วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ชินชิล่า (Chinchilla)




ชินชิล่า (Chinchilla)




         หนูชินชิล่า (Chinchilla) สัตว์เลี้ยงชนิดใหม่ในประเทศไทยที่มาแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีใบหน้าอันน่ารัก (คล้ายกับกระต่ายผสมหนู) กับขนปุกปุยอ่อนนุ่มเหมาะที่จะกอดและอุ้มเป็นที่สุด 

         ชินชิล่า เป็นสัตว์เลี้ยงเมืองหนาว อยู่ในสัตว์จำพวกฟันแทะ ชินชิล่า เป็นสัตว์หากินตอนกลางคืน รักสงบ มีถิ่นอาศัยดั้งเดิมอยู่บริเวณที่ราบสูงในทวีปอเมริกาใต้ แถบเทือกเขาคีรีมอนจาโร ประเทศอาร์เจนติน่า บราซิล และชิลี ลักษณะเฉพาะของเจ้าหนู ชินชิล่า คือมีนิสัยซุกซน อยากรู้อยากเห็น เป็นหนูสะอาดไม่มีกลิ่นตัว ชอบกระโดดสูง  ๆ ขาหน้าสั้น สามารถใช้จับและแกะเปลือกอาหารได้ มีใบหูที่เป็นเอกลักษณ์ หางเป็นพวงและชอบยืน 2  ขา อีกด้วย

1.ชนิดและสายพันธุ์ 
แต่เดิมนั้นชินชิลล่ามี 2 ชนิดคือ
  • Chinchilla brevicaudata
  • Chinchilla lanigera 
          โดย Chinchilla brevicaudata หูและหางจะสั้น คอและไหล่จะหนากว่า Chinchilla lanigera แต่ในปัจจุบันพบว่า Chinchilla brevicaudata ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ดังนั้นชินชิลล่าที่มนุษย์นำมาเลี้ยงจึงเป็นชนิด Chinchilla lanigera  ซึ่งยังสามารถพบได้ในป่าจำนวนเล็กน้อย(เนื่องจากในอดีตมนุษย์มักล่าชินชิลล่าเพื่อนำขนไปทำเครื่องนุ่งห่ม จึงทำให้จำนวนประชากรลดลงเป็นอย่างมาก)
           ชินชิลล่าเป็นสัตว์ฟันแทะที่มีหูกางใหญ่คล้ายหนู ขนาดรูปร่างคล้ายกับกระต่าย ขนมีลักษณะแน่นและหนา เพื่อป้องกันตัวเองจากอากาศหนาวเย็นบนเทือกเขาสูง อุ้งเท้าออกแบบมาเพื่อการเดินบนแผ่นหิน มีหลากหลายสีสันเช่น สีเทา สีเทาอ่อน สีดำ หางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอก

  • สีของชินชิลล่า  
           สีที่พบในธรรมชาติและพบมากที่สุดคือสีแสตนดาร์ด (สีเทาท้องขาว) ถ้าจะจำแนกสีชินชิล่าให้ครบถ้วนแล้ว คงจะต้องปวดหัวมากเลยทีเดียว แต่จะพยายามรวบรวมมาให้ได้มากที่สุด เอากันเรื่องพื้นฐานก่อน สีที่แตกต่างของชินชิล่า ไม่ได้หมายถึงพฤติกรรมที่แตกต่าง จะแตกต่างก็ลักษณะภายนอก เช่นสีอีโบนี่จะตัวเล็กกว่าสีอื่น คือโตที่สุดแล้วก็จะไม่ใหญ่มาก หรือสีขา วเช่นพิงค์ไวท์หรือไว ท์โมเสคที่จะขนร่วงมากกว่าสีโทนเข้มๆเช่น แบลคเวลเวท ชอกโกแลตและอีโบนี่ แต่ที่ชัดเจนที่สุดที่จะแตกต่างกันระหว่างสีคือเรื่องราคา ราคาที่แตกต่างเกิดจากเปอร์เซ็นต์การเกิด



  •  ข้อมูลทั่วไป

            ชินชิลล่า เป็นสัตว์ป่าซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเทือกเขา Andes ในแถบอเมริกาใต้ แถบประเทศอาเจนตินา โบลิเวีย ชิลี และเปรู ถูกมนุษย์นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เมื่อปี ค.ศ.1810 และสามารถเพาะขยายพันธุ์ในกรงเลี้ยงได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อปี ค.ศ.1900
            ในธรรมชาติชินชิลล่าเป็นสัตว์สังคม รักความสงบ ไม่ค่อยพบการต่อสู้กันเอง และอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 100 ตัว เพื่อป้องกันภัยจากผู้ล่าในป่า เช่น เหยี่ยว สกังค์ แมวป่า และสัตว์กินเนื้ออื่นๆ  โดยอาศัยอยู่ในโพรงหรือรอยแยกของหิน สามารถกระโดดได้อย่างว่องไวและกระโดดได้สูงกว่า 5 ฟุต พฤติกรรมการหาอาหารนั้น เจ้าชินชิลล่าออกหากินในเวลากลางคืน โดยจะกินผัก ผลไม้ เมล็ดพืช แมลง รวมทั้งหญ้าแห้งเป็นอาหาร แต่ในเวลากลางวันจะนอนและต้องการความเงียบสงบ
            ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี และตั้งท้องยาวนานมากเมื่อเทียบกับสัตว์ฟันแทะชนิดอื่นคือ 111 วัน ดังนั้นลูกชินชิลล่าที่เกิดมาจึงมีขนขึ้นเต็มตัวและลืมตาแล้ว แต่มักจะมีลูกจำนวนน้อยต่อครอก ส่วนใหญ่ประมาณ 2 ตัวต่อครอก มีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 15 ปี (บางตัวอาจจะมากถึง 20 ปี)
ชินชิลล่า มักจะทำเสียงหลายๆ แบบเพื่อแสดงความรู้สึกต่างๆ เช่นเสียงเห่า เสียงร้อง และเสียงเอี๊ยดๆ คล้ายเสียงเปิดบานพับของประตู หรือ หน้าต่าง และนอกจากนั้น  ชินชิลล่าสามารถได้ยินเสียง
ในช่วงคลื่นความถี่ 20 - 30 Hz ซึ่งใกล้เคียงกับมนุษย์


2.การจัดการด้านสุขาภิบาล 

  • กรงเลี้ยงและอุปกรณ์ภายในกรง 
กรงที่ใช้เลี้ยงชินชิลล่าควรจะมีขนาดใหญ่ ทำหลายๆ ระดับ เพราะชินชิลล่าชอบกระโดด มีของเล่นภายในกรงเช่น ของเล่นชนิดแขวนที่ทำจากไม้ วงล้อขนาดใหญ่ (เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 16 นิ้ว) หรืออาจจะเป็นแกนกลางของกระดาษชำระก็ได้ เส้นใยเนื้อไม้ที่เหนียวๆ หรือของเคี้ยวเล่นก็ได้ แต่ไม่ควรใช้ไม้ที่ทำจากต้นสนโดยเฉพาะต้นสนซีดาร์ เนื่องจากมียางเรซิน ซึ่งเป็นพิษต่อชินชิลล่า ไม่ควรใช้อุปกรณ์ที่เป็นพลาสติกภายในกรง เพราะ ชินชิลล่ามีนิสัยชอบกัดแทะวัสดุต่างๆ อาจจะเคี้ยวและกลืนพลาสติกลงไป ทำให้เกิดการอุดตันภายในลำไส้ได้ ไม่ควรใช้ขี้เลื่อยที่ทำจากต้นสนซีดาร์แดง เป็นวัสดุรองนอน เนื่องจากเป็นพิษต่อชินชิลล่า หลีกเลี่ยงการใช้กรงลวด จะทำให้บาดเท้า สามารถใช้วัสดุรองพื้นเป็นแผ่นไม้ หรือแผ่นหินตามธรรมชาติได้ เช่นเดียวกับที่รองสำหรับกระต่าย

            ตำแหน่งที่วางกรงควรจะมีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี เนื่องจากชินชิลล่าไม่สามารถหลั่งเหงื่อเพื่อระบายความร้อนได้ และการระบายความร้อนออกจากร่างกายก็ทำได้ช้า เนื่องจากมีขนที่หนา หนึ่งรูขุมขนมีเส้นขนมากถึง 60 เส้น ดังนั้นถ้าอุณหภูมิภายในกรงสูงกว่า 25°C หรือ 77°F จะทำให้เกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) ได้ และมีความชื้นต่ำหรือเหมาะสำหรับการเลี้ยงในห้องแอร์ หรือที่มีอากาศเย็นอยู่เสมอ ไม่ควรตั้งให้โดนแสงแดดโดยตรง แค่บางเวลาบางมุมของกรงเท่านั้น
            ในกรงอาจจะเลี้ยงเป็นคู่ หรือเลี้ยงแยกเพศเป็นกลุ่ม หรือตัวผู้หนึ่งตัวต่อตัวเมียห้าตัวกำลังเหมาะ

  • กรง 
            สำหรับกรง มี 2 ตัวเลือกให้ผู้เลี้ยงได้ตัดสินใจกัน อย่างแรกเลยคือซื้อกรงสำเร็จรูปตามท้องตลาดทั่วไป หรืออย่างที่สองคือประกอบกรงด้วยตัวเอง ข้อดีของการซื้อกรงสำเร็จรูปคือ มันมีอยู่แล้วไม่ต้องคิด ซื้อได้ทันทีแล้วก็มีแบบให้เลือกเยอะ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้ตรงกับความต้องการเสมอไป จึงเทียบไม่ได้กับการออกแบบกรงด้วยตัวเอง แต่การออกแบบกรงด้วยตัวเองบางครั้งอาจ มีต้นทุนในการทำ มากกว่า เนื่องจากทำในปริมาณที่น้อย และใช้วัสดุที่ดีกว่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เลี้ยง เพราะชินชิล่าไม่ได้ใส่ใจกับความสวยงามของกรงแต่อย่างใด สำคัญคือเค้าต้องการที่วิ่งเล่นและกระโดดได้ ถึงจะทำจากวัสดุที่ไม่ดี แต่ก็มีความสุขได้เหมือนกัน หากคิดจะออกแบบกรงเอง ควรออกแบบให้มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เค้าได้มีพื้นที่วิ่งเล่นมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เล็กพอที่จะขยับหรือเคลื่อนย้ายไปยังส่วนต่างๆของบ้านได้ในเวลาที่เราต้องการเคลื่อนย้าย วัสดุที่ใช้ก็ต้องระวัง เช่นไม้บางอย่างที่เป็นพิษกับชินชิล่า อย่างไม้สนแดงและไม้ซีดาร์ เป็นต้น การหาจุดตั้งกรง ที่ตรงนั้นไม่ควรถูกแดดกระทบโดยตรง ไม่ควรมีความชื้น ไม่มีเสียงรบกวนเวลากลางวัน เพราะอาจทำให้เค้าพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดความเครียดจนอาจส่งผลให้ท้องอืด ท้องเสียหรือเกิดแก็สในช่องท้องได้

  • ขวดน้ำ 
            ขวดน้ำควรเลือกซื้อแบบที่ดีไปเลย เพราะการที่ต้องซื้อเปลี่ยนบ่อยครั้งจะแพงกว่าการซื้อขวดดีๆครั้งเดียวแต่ใช้ได้เป็นเวลานาน การเลือกขวดน้ำ สำคัญต้องล้างทำความสะอาดง่าย เลือกขวดที่ใสเพื่อจะได้มองเห็นเวลามีสิ่งแปลกปลอมปนมากับน้ำ และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง น้ำที่ใช้ต้องเป็นน้ำกรองเท่านั้น น้ำก๊อกให้หลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจมีของแถมเป็นแบคทีเรียซึ่งทำให้เค้าท้องเสียได้ ขวดน้ำควรจะล้างทุกวัน หรือวันเว้นวัน ไม่งั้นจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค การล้างขวดน้ำหรือชามอาหาร ให้ใช้สบู่ล้างแทนที่จะใช้น้ำยาล้างจาน เนื่องจากน้ำยาล้างจานไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้หมด

  • ชามอาหาร 
            การเลือกชามอาหารควรเลือกชามที่หนัก เพื่อที่เค้าจะได้ไม่คว่ำชามอาหารทิ้ง เพราะชินชิล่าจะเลือกกินแต่ของที่ชอบ อันไหนที่ไม่ชอบแล้วเหลือไว้ในชาม เค้ามันจะคว่ำชามทิ้งเป็นประจำ วัสดุที่ทำชามใช้เป็นเซรามิคจะดีที่สุด เนื่องจากล้างทำความสะอาดง่าย แล้วก็หนักพอที่เค้าจะคว่ำไม่ได้

  • อาหารเม็ดและหญ้า 
            อาหารเม็ดและหญ้าก็มีหลากหลายยี่ห้อให้ได้เลือกกันในท้องตลาด หลักการซื้อคือควรจะเลือกอาหารเม็ดที่เป็นเม็ดแบบเดียว ไม่มีหลายๆแบบคละกัน เพราะเค้าจะเลือกกิน เป็นเม็ดแบบเดียวก็จะได้รับสารอาหารครบถ้วน เลือกกินไม่ได้ หลักๆก็จะเห็นมียี่ห้อ KAYTEE กับ OXBOW  ส่วนหญ้าแห้งก็เลือกซื้อจากร้านที่ดูว่าขายออกตลอด ไม่ค้างสต็อกเพราะอาจจะเจอเชื้อราได้ ไม่ต้องซื้อตุนเยอะ เพราะอาจจะใช้ไม่ทัน ถ้าเป็นอาหารเม็ดยังพอกักตุนกันได้เพราะซีลไว้แน่นหน้า หญ้าแห้งจะแค่มัดปากถุงไว้หลวมๆเท่านั้นเอง

  • บ้านไม้หรือบ้านเซรามิค 
            บ้านสำหรับชินชิล่า มีไว้เพื่อความรู้สึกปลอดภัยสำหรับตัวเค้า เปรียบเสมือนกันหลุมหลบภัยเวลามีสงคราม เวลาตกใจอะไรเค้าจะกลับไปสงบสติอารมณ์ในบ้าน แต่ข้อเสียของการมีบ้านก็ตรงที่ชินชิล่าของเราจะเป็นชินที่สลิดมาก เค้าจะหวงตัวแล้วก็เล่นตัวมากกว่าชินที่ไม่มีบ้าน วันทั้งวันจะขลุกอยู่แต่ในกะลา(บ้าน)อันน้อยๆของเค้า บางตัวนี่กว่าจะเอาตัวออกมาจากบ้านได้นี่ต้องทั้งเอาของกินล่อ ทั้งดุ ทั้งดึงถึงจะยอมออก ส่วนบ้านไม้กับบ้านเซรามิคก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน บ้านไม้ก็ไว้ให้เค้ากัดแทะ ใช้ลับฟันได้ แต่ต้องซื้อเปลี่ยนเรื่อยๆ เพราะเค้าอาจจะแทะหลังคาหายไปเลย ส่วนบ้านเซรามิคก็ใช้ได้ถาวรแต่ก็ต้องหาหินลับฟัน หรือไม้ให้เค้ากัดแทะเพื่อลับฟัน

  • โหลอาบทราย 
            โหลอาบทรายก็มีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะหาภาชนะไหนมาให้เค้าอาบ อาจจะใช้ถ้วยชามใบใหญ่ กระถางดินเผา โหลปลา กล่องไม้อะไรก็ได้ ที่บรรจุทรายแล้วให้เค้าลงไปคลุกอาบได้ แต่ภาชนะที่มีฝาปิดดูจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะทรายจะไม่ฟุ้งมาก

  • ชั้นไม้สำหรับกระโดด 
            กรงบางแบบอาจจะเป็นชั้นพลาสติกติดกรงมา ก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่จะไม่แข็งแรงเท่าชั้นไม้ การใช้ชั้นไม้ที่ล็อคได้แน่นกว่าแผ่นพลาสติกที่อาจจะเคลื่อนหรือหลวมไม่แน่นและมั่นคงเท่าชั้นไม้ จะมีผลต่อความแข็งแรงของขาหลังที่ใช้กระโดด แต่ชั้นไม้ก็เปลืองกว่าตรงที่ต้องซื้อใหม่เวลาที่เจ้าขนปุยแทะซะหายไปกว่าครึ่งจนไม่เหลือที่ให้ยืนแล้ว ก็คงถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนใหม่

  • ของเล่น 
            ของเล่นชินชิล่าก็จะเป็นพวกของกัดแทะทั้งหลาย มีทั้งเป็นบ้านโพรงทำจากหญ้า เป็นหญ้าในลูกบอล แท่งไม้ ขอนไม้ต่างๆ ระวังเรื่องของที่เป็นพิษกับเค้าเป็นเรื่องหลักๆ จำให้แม่นไม้สนแดงกับไม้ซีดาร์นี่ห้ามเลยนะ ของกินก็หลีกเลี่ยงของที่มีส่วนผสมของข้าวโพดและผักกาดเพราะจะก่อให้เกิดแก็สในช่องท้องได้


3.การเลี้ยงดู 
  • การเลี้ยง 
เนื่องจากนิสัยตามธรรมชาติของชินชิลล่าจะเป็นสัตว์ที่กระตือรือร้นและชอบสำรวจ ดังนั้นผู้เลี้ยงต้องดูแลเอาใจใส่และควรจะพาออกไปเดินเล่นนอกกรงอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง เพื่อออกกำลังกายและลดความเครียด

ตามปกติชินชิลล่าจะไม่ชอบความเปียกชื้น เนื่องจากขนของชินชิลล่าจะมีลักษณะแน่นและหนา เมื่อเปียกน้ำจึงอับชื้นและขึ้นราได้ง่าย ถ้าไม่ทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว แต่จะมีสัญชาติญาณในการทำความสะอาดขนโดยกลิ้งไปมาบนทรายหรือฝุ่นหินภูเขาไฟ ซึ่งเรียกว่า Chinchilla dust (dust baths) โดยจะทำความสะอาดขนหลายครั้งใน 1 สัปดาห์ โดยการเอาฝุ่นอาบน้ำลงในขัน หรืออ่างขนาดพอตัวให้ลงคลุกด้วยตัวเอง จากนั้นประมาณ 10 นาที ให้นำเอาฝุ่นอาบน้ำออก
ใครที่คิดจะเลี้ยง ชินชิล่า จะดีมากหากคุณเลี้ยงมันไว้ในห้องแอร์ เพราะโดยธรรมชาติ ชินชิล่า เป็นสัตว์เมืองหนาว อย่างไรก็ตาม ชินชิล่า สามารถปรับตัวให้อยู่ในห้องที่ไม่ต้องเปิดแอร์ได้ แต่จะต้องไม่ร้อนจนเกินไป ส่วนเรื่องราคาของชินชิล่าจะขึ้นอยู่ที่สี มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น สีที่เป็นที่นิยม ได้แก่ สแตนดาร์ด เกรย์ ซึ่งเป็นสีพื้นฐานที่นิยมทั่วไป และยังมีสีพิเศษอีกจะเป็นพวกขาวตาแดง (ขาวทั้งตัว) , สีโมเสด, สีอีโมนี่(ดำทั้งตัว) , สีพวกไวโอเล็ต และพิ้งค์ นี่เป็นสีพวกนี้ราคาสูงขึ้นตามลำดับ 

  • การให้อาหาร 
ชินชิลล่าเป็นสัตว์กินพืชเป็นหลักมีระบบการทำงานและการย่อยอาหารที่ทางเดินอาหารส่วนท้ายเป็นหลัก เช่นเดียวกับกระต่าย มีระบบทางเดินอาหารที่เปราะบางมาก ไม่สามารถย่อยอาหารไขมันและอาหารหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีถุงน้ำดี ซึ่งทำหน้าที่ผลิตเอ็นไซด์ที่ช่วยย่อยไขมันในอาหารได้ ไขมันจึงสะสมในร่างกาย และทำให้ตับถูกทำลายได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการให้อาหารที่มีรสหวานเช่น แอปเปิ้ล องุ่น หรือเรซิน และอาหารที่มีไขมันสูงเช่น เมล็ดถั่ว หรือเมล็ดทานตะวันเป็นอาหารแก่ชินชิลล่า
ควรให้อาหารในเวลาเดียวกันทุกวัน ส่วนใหญ่นิยมให้อาหารในช่วงเย็นเนื่องจากช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ชินชิลล่ามีกิจกรรมมากที่สุดซึ่งอาหารที่ให้อาจจะประกอบด้วยอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดที่เหมาะสม ควรจะจำกัดอาหารเม็ด ไม่ให้เกินไปกว่าวันละ 1 - 2 ช้อนชาต่อตัว หญ้าแห้งที่มีคุณภาพสูง ที่ยอมรับ ได้แก่ หญ้าทิโมธี และน้ำสะอาด หญ้าแห้งควรเป็นองค์ประกอบหลัก เนื่องจากมีเยื่อใยสูง ช่วยในกระบวนการเคี้ยว การทำงานที่สมบูรณ์ของทางเดินอาหาร ลดปัญหาท้องผูก ท้องอืด ท้องเสีย และยังช่วยลับฟันอีกด้วย
อาจจะให้ลูกเกดหรือมะละกอแห้งชิ้นเล็กๆ เป็นอาหารได้ แต่ไม่ควรให้มากเกินไปเพราะอาจทำให้ท้องเสียได้ หรือการให้กินในระยะยาวอาจจะทำให้อ้วนได้ การให้ผักสดเป็นอาหารอาจจะทำให้ชินชิลล่าท้องอืดและตายได้
การเปลี่ยนอาหารต้องค่อยๆ เปลี่ยน ต้องใช้เวลาหลายๆ วัน ไม่ควรทำการเปลี่ยนในทันที การเปลี่ยนอาหารจะมีผลต่อความเป็นกรดด่าง และปริมาณจุลชีพที่เป็นประโยชน์ในทางเดินอาหารเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้จุลชีพเหล่านั้นตาย แบคทีเรียที่ก่อโรคจะขยายตัวเกิดปัญหาท้องเสียตามมาได้ ในแต่ละวันสิ่งที่เจ้าของต้องปฏิบัติ คือ การสำรวจมูลหรืออึ เพื่อสังเกตหาความผิดปกติ

  • อาหารของเจ้าชินชิลล่า

          ชินชิล่า เป็นสัตว์ที่กินน้อย เพราะมาจากเขตที่แห้งแล้งบนเทือกเขาสูง กินเพียงหญ้าแห้งและเมล็ดพืช ดังนั้น เราจึงไม่ควรให้อาหารมากเกินไป แนะนำว่าควรให้อาหารสำเร็จรูปของชินชิล่า 2 ช้อนโต๊ะต่อวันหรือ 1/3 ถ้วย สำหรับตัวโตเต็มวัย ร่วมกับการให้หญ้าแห้งควบคู่ไปด้วยไม่ว่าจะเป็นแบบธรรมดาหรือแบบอัดแท่งก็ได้ 

          นอกจากนี้ อาจจะให้ผลไม้หรือผักสดชิ้นเล็ก ๆ 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยระบบย่อย เช่น แอปเปิ้ล แต่ไม่ควรให้ กะหล่ำปลี ข้าวโพด หรือผักกาด เพราะผักเหล่านี้มีแก๊สซี่งอาจจะทำให้ชิลชิล่าตายได้

          อาหารเม็ด ผู้เลี้ยงสามารถหาซื้ออาหารเมล็ดได้จากร้านขายอาหารสัตว์ทั่วไป อาหารเม็ดของชินชิล่าประกอบด้วย เมล็ดข้าวสาลี หญ้าแห้งอัลฟาฟ่า ข้าวโอ๊ด กากน้ำตาล ถั่วเหลือง วิตามินและแร่ธาตุ 

          หญ้าแห้ง หญ้าแห้งมีไฟเบอร์ที่จำเป็นต่อชินชิล่า 

  • การอาบน้ำ 
            สำหรับการทำความสะอาดตัวของชินชิล่า ห้ามอาบน้ำเด็ดขาด ให้ใช้ทรายขี้เถ้าภูเขาไฟสำหรับชินชิล่าโดยเฉพาะ โดยการนำขี้เถ้าภูเขาไฟใส่โหลแก้ว หรือถาด แล้วใส่ไว้ในกรง ชินชิล่า จะลงไปคลุกทำความสะอาดตัวเอง แค่นี้ ชินชิล่า ก็จะขนฟูน่ารักแล้ว 


4.การเพาะขยายพันธุ์

            ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี และตั้งท้องยาวนานมากเมื่อเทียบกับสัตว์ฟันแทะชนิดอื่นคือ 111 วัน ดังนั้น ลูกชินชิลล่า ที่เกิดมาจึงมีชนขึ้นเต็มและลืมตาแล้วแต่มักจะมีจำนวนน้อยต่อครอก ส่วนใหญ่ 2 ตัวต่อครอก มีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 15 ปี (บางตัวอาจถึง 20 ปี)


                                                 ช่วงชีวิต                                   เฉลี่ย 8-9 ปี สูงสุด 18 ปี

                                                 น้ำหนักโตเต็มวัย                       400-600 กรัม (ตัวเมียโตกว่า)

                                                 อุณหภูมิร่างกาย                         37-38 องศาเซนเซียส

                                                 อัตราเต้นของหัวใจ                    100-150 ครั้งต่อนาที

                                                 วัยเจริญพันธุ์                             6-8 เดือน

                                                 ระยะตั้งท้อง                               111 วัน

                                                 ขนาดครอก                               1-6 ตัว เฉลี่ย 2 ตัว

                                                 อายุหย่านม                                6 สัปดาห์


  • การจับคู่ชินชิลล่า
            การที่จะจับคู่ให้เจ้าชินชิลล่านั้น อาจจะเจอปัญหาการทะเลาะกันรุนแรงได้ ซึ่งผู้เลี้ยงต้องอาศัยการสังเกตอย่างมากว่าเจ้าขนปุยทั้งสองตัวจะเข้ากันได้หรือไม่ แล้วทะเลาะกันรึเปล่า บางคู่สามารถจับคู่กันได้โดยที่ไม่มีการทะเลาะกันเลยก็มี หรือทะเลาะกันแรงๆก็มี การเริ่มจับคู่นั้น อันดับแรกต ้องเช็คก่อนว่าตัวเมียนั้นถึงวัยเจริญพันธุ์แล้วหรือยัง อายุควรจะเป็นตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไป หรือถ้าจะดูตามน้ำหนักก็ราวๆ 450 กรัมขึ้นไป ปลอดภัยที่สุดคือดูทั้งสองอย่างประกอบกัน เช่นอายุถึงแล้วแต่ตัวเล็กน้ำหนักแค่ 300 กว่ากรัม หากท้องก็อาจเจอภาวการคลอดยากได้เช่นกัน หรืออาจเจอกรณีน้ำนมเป็นพิษ สาเหตุมาจากแม่ชินมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม เช่นกำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโต ซึ่งร่างกายต้องการสารอาหารมากอยู่แล้ว ยังต้องแบ่งสารอาหารนั้นเพื่อเลี้ยงลูกในท้อง ก็ต้องดึงแคลเซียมจากกระดูกหรือสารอาหารที่สะสมในร่างกายมาใช้ ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำนมเป็นพิษ ทั้งตัวแม่ชินก็จะอ่อนแรง มีผลกระทบร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ลูกชินชิล่าที่ได้รับน้ำนมที่เป็นพิษ ก็เสี่ยงต่อการเสียชีวิตอีกเช่นกัน อีกกรณีนึงคือชินชิล่าที่โตเต็มที่แล้ว แต่ผสมพันธุ์ตลอดไม่ได้พัก เมื่อชินชินชิล่าคลอดลูกแล้ว ควรแยกตัวผู้ออกเร็วที่สุด ป้องกันการผสมซ้ำซึ่งตัวเมียจะต้องเหนื่อยทั้งเลี้ยงลูกและตั้งท้องลูกในคอกต่อๆไป หลังจากลูกชินชิล่าน้อยๆหย่านมแม่แล้ว ก็ไม่ควรรีบนำกลับมาเข้าคู่กับตัวผู้ทันที ควรมีระยะพักฟื้นร่างกายก่อน เนื่องจากการให้นมลูกนั้น เหนื่อยไม่แพ้การตั้งท้องเลย แม่ชินชิล่าจะผอมลงมากในช่วงที่ให้นมลูกชินน้อยๆของพวกมัน จึงควรให้พักอีก 2-4 เดือนเพื่อให้ร่างกายได้เตรียมพร้อมสำหรับการตั้งท้องครั้งต่อไป
           กลับมาเรื่องวิธีจับชินชิลล่าเข้าคู่กันต่อ การที่จะแนะนำทั้งสองตัวให้รู้จักกัน จะใช้เวลา 2-4 อาทิตย์ ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของชินชิล่าแต่ละตัวว่าจะยอมรับอีกตัวได้ยากง่ายแค่ไหน ขั้นตอนแรกเริ่มจากเลี้ยงชินชิล่าแยกกรงกัน แต่นำกรงมาชิดติดกัน โดยมีระยะห่างพอประมาณที่เค้าจะไม่สามารถกัดกันได้ การนำกรงมาชิดติดกัน ก็เพื่อให้ชินทั้งสองได้กลิ่นและเห็นกันทั้งวันทั้งคืน มีโอกาสที่จะสร้างความคุ้นเคยกันมากขึ้น โดยหลังจาก 2 อาทิตย์ อาจลองปล่อยออกนอกกรงให้มาเจอกันบ้างเป็นครั้งคราว หรืออาจจะเอารวมในกรงใดกรงนึง ซึ่งเป็นกรงตัวผู้จะดีกว่า เพราะตัวเมียมีนิสัยหวงที่มากกว่าตัวผู้ อีกวิธีคือการล้างกรงและเคลื่อนย้ายข้าวของเครื่องใช้ในกรงไปตำแหน่งอื่น เพื่อให้เหมือนเป็นกรงใหม่ จะได้ลดปัญหาเรื่องการหวงบ้านลงไปได้บ้าง แล้วจับชินชิล่าทั้งสองตัวใส่เข้าไป หากยังมีทะเลาะกันแต่ไม่รุนแรง ก็ต้องสังเกตต่อไปซักวันสองวันว่ามีทะเลาะกันรุนแรงหรือไม่ ถ้าไม่รุนแรงนัก ส่วนมากทะเลาะกันไม่เกินวันก็เลิกแล้ว แต่ถ้าตีกันขนาดขนหลุดปลิวรอบกรงคงต้องจับแยกกรงต่อ โดยเทียบไว้เหมือนเดิม แล้วค่อยนำมาเจอกันใหม่อีก 1-2 อาทิตย์ถัดไป


5.ราคา แหล่งซื้อขาย

  • ราคา (ประมาณ)
ราคาของชินชิลล่ามีราคาเป็นไปตามสีของชินชิลล่าตามนี่
- สีนอร์มอล เทาน้ำตาล 5,000-7,000บาท
- สีซิลเวอร์ไวท์ ขาว แซมดำ 15,000บาท
- สีเบจ ชมพูหน่อยๆ 16,000บาท
- สีไวโอเล็ต เงิน เทา 18,000บาท
- สีขาวจั๊ว 20,000บาท
- สีดำสนิท 20,000บาท
- สีขาวจั๊วตาแดง 22,000บาท

  • แหล่งซื้อขาย
            สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายสัตว์เลี้ยง หรือเว็บไซต์ต่างๆก็มีตลาดซื้อขายเช่นเดียวกัน

  • การเลือกซื้อ
            เลือกตัวที่ร่าเริง ขี้เล่น กระปรี้กระเปร่า มีความคึกคักอยู่ตลอดเวลา ดูที่ก้นต้องไม่มีคราบอุจจาระเหนียวๆติดอยู่ ขนไม่ร่วง ตาสดใสไม่ขุ่น

  • การเลือกกรง
            ชินชิลล่าชอบวิ่งและกระโดด  เลือกกรงที่สูงเเละกว้างพอ ปูชั้นล่างด้วยผ้านุ่ม เวลาที่เค้าโดดมาจะได้ไม่เจ็บเท่าไหร่ กรงใหญ่โตแค่ไหนก็ยิ่งดี  ซี่กรงไม่ควรใหญ่มาก  แบบกรงหมาแมวสามารถหนีออกได้ ของเล่นควรใส่ไว้ให้ เช่น พวกกล่องไม้(ไม่มีสี)  อะไรก็ได้ที่เป็นไม้ เอาไว้ลับฟัน ฟันเขาจะยาวขึ้นเรื่อยๆ แต่ห้ามใช้ไม้ Cedar เพราะเป็นอันตราย
6.การป้องกันโรค

  • ความร้อน
            เป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของชินชิลล่า ขนของชิชิลล่าก็เหมือนเสื้อกันหนาวกันหิมะ ถ้าเขาถูกแสงแดดตรงๆ เป็นเวลานานก็จะตายได้ ช่วงหน้าร้อนก็ควรระวังเป็นพิเศษ

  • ออกกำลังกาย
ควรให้ออกมาวิ่งนอกกรงสักวันลพสองชั่วโมง ขาเขาจะได้แข็งแรง







โรคและความผิดปกติที่พบ
                  1.    ตาอักเสบติดเชื้อ (Eye infection) เกิดจากหลายสาเหตุได้แก่ มีฝุ่นผงหรือเศษของวัสดุรองนอนปลิวเข้าตา การได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม ความเครียด อากาศเย็นหรือโรคปอดปวม หรือมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน อาการที่พบคือ เปลือกตาจะบวม มีขี้ตาสีขาวอยู่รอบๆ ตา อาจจะมีน้ำตาไหล
                  2.    ปัญหาเกี่ยวกับฟัน (Tooth Care)
                  3.    องคชาติบวม (Swollen Penis or Paraphimosis) เกิดจากเส้นขนพันอยู่รอบๆ องคชาติ ภายหลังการผสมพันธุ์ ทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณองคชาติได้ไม่ดี จนเกิดเลือดคั่งและบวมอักเสบ
                  4.    บาดแผลและรอยขูดขีด (Cuts & Abrasions)
                  5.    การติดเชื้อรา (Ringworm)  มักพบในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว เกิดจากการติดเชื้อราชนิด Trichophyton spp. โดยอาการที่พบคือขนหลุดร่วงเป็นหย่อมๆ ผิวหนังใต้ขนที่หลุดร่วงจะมีสีชมพูหรือแดง คัน ขนบางแตกหักง่าย หนวดแตกหักง่ายและบิดโค้งตรงปลาย โดยมักเป็นหนวดข้างใดข้างหนึ่ง บางตัวอาจมีน้ำตาไหลด้วย
                  6.    การแทะเล็มขน (Fur chewing) สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะเกิดจากความเครียด ทำให้ชินชิลล่าใช้ฟันกัดแทะขนบริเวณลำตัวและขา จึงทำให้ขนบริเวณด้านข้างของขาหลังหลุดร่วง
                  7. ปัญหาเกี่ยวกับหู (Ear ailments)  เป็นอาการป่วยที่พบได้ไม่บ่อยนัก สาเหตุอาจเกิดจากการได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม และมักมีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาการป่วยที่พบคือ มีสิ่งคัดหลั่งไหลออกจากภายในหู ใช้เท้าเกาหู หัวเอียง และเดินเป็นวงกลม
                  8.    ท้องเสีย (Diarrhea) เกิดจากหลายสาเหตุได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อปาราสิตชนิด giardia, coccidia และปัญหาเรื่องฟัน อาการที่พบคืออุจจาระมีลักษณะเหลวเป็นน้ำหรืออ่อนนุ่มกว่าปกติ

                  9.    ท้องผูก (Constipation) เกิดจากการได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม อาหารมีเยื่อใยต่ำ ได้รับหญ้าน้อย หรืออาจจะเกิดจากการขาดการออกกำลังกาย ทำให้มีอุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนขนาดเล็ก แห้งกว่าปกติ และอาจจะมีกลิ่นเหม็น การแก้ไขทำได้โดยให้ชินชิลล่ากินน้ำและหญ้าแห้งมากขึ้น ให้กินลูกเกดวันละ 1 - 2 เม็ด
หมายเหตุ ก้อนขน (furballs) อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการอุดตันในลำไส้ได้ การแก้ไขโดยให้กินเอนไซม์ของมะละกอ น้ำสัปปะรด หรือน้ำมะละกอสด
                  10.   โรคลมแดด (Heat Strokes) เกิดจากหลายสาเหตุได้แก่ อุณหภูมิภายในกรงที่สูง การระบายอากาศภายในกรงที่ไม่เพียงพอ การได้รับแสงแดดโดยตรง และการได้กินน้ำน้อย การแก้ไขทำได้โดยนำชินชิลล่าไปไว้ในห้องที่เย็น วางพัดลมไว้ใกล้ๆ หรือวางน้ำแข็งไว้ในกรง แต่ไม่ควรนำชินชิลล่าไปแช่น้ำเย็น เพราะอาจทำให้ช็อกได้
                  11.   โรคติดเชื้อปาราสิต (Parasites) ปาราสิตที่พบในระบบทางเดินอาหารของชินชิลล่าได้แก่ giardia, cryptosporidium, tapeworms, hookworms, nematodes, and coccidia. และมักก่อให้เกิดปัญหาในชินชิลล่าอายุน้อยมากกว่าอายุมาก
                  12.   ท้องอืด (Bloating) สาเหตุเกิดจากการกินผักสด และอาหารที่มีเยื่อใยต่ำ ทำให้ทางเดินอาหารมีการบีบตัวลดลง อาการที่พบคือ ท้องกางขยายขนาดใหญ่ขึ้นคล้ายลูกบอลลูน ขับถ่ายได้ลดลง คล้ายท้องผูก สลับท้องเสีย มีเมือกเหนียวเปื้อนบริเวณก้น หรือมูลมีขนาดเล็กลงในบางราย
                  13.   โรคหัวใจ (Heart Murmurs)
                  14.   ชัก (Seizures) มักพบในชินชิลล่าอายุน้อย ชินชิลล่าที่ตั้งท้อง หรือชินชิลล่าที่ขาดวิตามินเกลือแร่หรือแคลเซียม อาการที่พบคือ สั่น โงนเงน เดินเอียง หรือเดินเป็นวงกลม




อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น